ประวัติความเป็นมาของสหกรณ์
ปี ๒๕๒๑ สืบเนื่องจากท่านร้อยตรี กิตติ ประทุมแก้ว ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เมื่อท่านได้มีแนวคิดที่จะเปิดเมืองพัทลุงสู่โลกภายนอก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะทางด้านการพัฒนาอาชีพ ด้วยท่านได้เล็งเห็นว่ารายได้มวลรวมของชาวพัทลุงขณะนั้นมีรายได้แค่ ๙,๐๔๐ บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างยากจนที่สุดในจังหวัดภาคใต้ จากปัญหาดังกล่าวท่านจึงได้ระดมความคิดหลายฝ่ายเพื่อที่จะแก้ปัญหา จึงสรุปมีความเห็นตรงกันว่าจะต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพโดยเน้นหนักให้เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเองได้ จึงได้ตั้งงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง |
ปี ๒๕๒๒ ได้มีการนำผู้นำเกษตรกร ไปศึกษาดูงานในภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเน้นเรื่องของการเลี้ยงโคเป็นหลักและได้รูปแบบดูการเลี้ยงโคนมที่อำเภอหนองโพ จังหวัดราชบุรี โดยมี ๓ หน่วยงาน คือ๑) สภาจังหวัดพัทลุงนำโดย นายโชติ อ่อนเปี่ยม ประธานสภาจังหวัดพัทลุง๒) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด โดยมี คุณสุรศักดิ์ ศิริสมบูรณ์ เป็นปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง๓) หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ ๔๓ ก.ร.ป พัทลุงเมื่อกลับมาถึงจังหวัดพัทลุงทั้ง ๓ หน่วยงานสรุปร่วมกับเกษตรกรผู้นำ มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องพัฒนาโคเนื้อและโคนมขึ้นในจังหวัดพัทลุงให้จงได้ จึงได้มีการนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นโอกาสที่เหมาะ เนื่องจาก พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มาตรวจราชการในจังหวัดพัทลุง จึงได้มอบพ่อพันธุ์โค อเมริกันบราว์มัน จำนวนทั้งหมด ๘ ตัว ให้กับอำเภอต่างๆ โดยตั้งชื่อว่ากิตติ ๑ - กิตติ ๘ |
ปี ๒๕๒๓ นายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงสมัยนั้น ท่านก็มีความเห็นสอดคล้องกับนโยบายเดิม จึงได้เร่งให้มีโครงการต่างๆ ของปศุสัตว์อย่างเต็มที่และในปี ๒๕๒๔ ได้ขออนุมัติจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โดยเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อโคนมมาจำนวน ๑๘ ตัว ให้เกษตรกรได้เช่าซื้อโดยปลอดดอกเบี้ย และมีเงื่อนไข คือ ให้เกษตรกรเช่าซื้อรายละ ๑ ตัว โดยให้มีการให้ชำระเงินคืนในปีที่ ๒ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท และชำระคืนปีที่ ๓ อีก ๖,๐๐๐ บาท โดยได้ทดลองกับกลุ่มลำปำและกลุ่มควนมะพร้าว ซึ่งทำให้เกษตรกรตื่นตาตื่นใจเพราะไม่เคยรู้และทราบว่าโคนสามารถให้นมได้ตัวละ ๘ กิโลกรัม ขณะนั้นเกษตรกรใช้วิธีต้มนมและบรรจุขวดขาย โดยจำหน่าย ขวดกลมละ ๑๐ บาท และขวดแบนละ ๕ บาท โดยในช่วงแรกก็มีอุปสรรคบ้างคือ คนโดยทั่วไปไม่เคยดื่มนมจึงต้องอาศัยคนที่ใกล้ชิดและผู้รู้คุณค่านมกินแล้วบอกต่อ |
ปี ๒๕๒๕ กรมปศุสัตว์ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญของกรมร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จาก FAO มาศึกษาความเป็นไปได้ของการทำโครงการและผลการวิเคราะห์ก็มีความเห็นชัดเจนว่าให้กรมสนับสนุนงบประมาณได้ เกษตรกรหัวก้าวหน้าจึงได้มีการหาวัวนมจากภาคกลางมาจำนวนมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตน้ำนมดิบจำนวนมาก เกษตรกรผู้นำกลุ่มได้นำปัญหาน้ำนมดิบที่เกษตรกรผลิตได้ออกมาปริมาณมากโดยได้นำปัญหานี้ไปปรึกษากับ ผู้แทนราษฎร์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลในขณะนั้นคือ คุณวีระ มุสิกพงษ์และคุณชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจึงได้รับการสนองตอบในปี ๒๕๒๖ |
ปี ๒๕๒๗ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดสรรงบประมาณมาสนองตอบต่อทางกลุ่มเกษตรกรโดยได้จัดซื้อแม่โคนม ติดท้อง มามอบให้เกษตรกรจำนวน ๑๔๗ ตัว และในปีเดียวกันได้ให้งบประมาณจำนวน ๔ ล้านบาท เพื่อมาเป็นเงินทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ขึ้น ซึ่งมีกำลังผลิต ๓ ตัน/วัน ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมภาคใต้ตอนล่างให้กับทางจังหวัดพัทลุงซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ ต่อมาเกษตรกรผู้นำได้จัดตั้งเป็นกลุ่มธรรมชาติชื่อ "กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมพัทลุง" เพื่อจัดทำธุรกิจรวบรวมผลผลิตน้ำนมดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอร์ไรส์ โดยมีสมาชิกเริ่มต้น ๕๖ ราย และส่งน้ำนมดิบเข้าโรงงาน ๔๕๐ ลิตรต่อวัน และทางโรงงานก็ได้มีการเดินเครื่องเพื่อผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ บริเวณสามแยกท่ามิหรำ (ที่ราชพัสดุ)ต่อมาทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมพัทลุงก็ประสบปัญหาไม่มีผู้ทำตลาด เนื่องจากเกษตรกรไม่ถนัดเรื่องค้าขายแต่ผลสุดท้ายเกษตรกรทุกคน ต้องทำเนื่องจากค่าตอบแทนถุงละ ๑ บาท เป็นแรงจูงใจ แทนที่จะมีการส่งน้ำนมดิบอย่างเดียว จึงเห็นได้ว่ารูปแบบการตลาดของกลุ่ม เลี้ยงโคนมพัทลุง คือน้ำนมดิบมาจากเกษตรกรและเมื่อนมดิบได้เข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว ก็ยังกลับไปยังเกษตรกรอีก หลังจากนั้นทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมพัทลุงก็ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านพันธุ์โคนมจากกรมปศุสัตว์เรื่อยมา
|
ปี ๒๕๓๑ นายพร้อม บุญฤทธิ์ คณะกรรมการกลุ่มมีมติให้ทางกลุ่มเลี้ยงผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมแข่งขันระดับประเทศและได้รับการตัดสินจากกรรมการของกรมปศุสัตว์ให้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมพัทลุงเป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี ๒๕๓๒ โดยให้ทางนายสุนัย สุขเกษม ประธานกลุ่มได้ไปรับโล่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ยังความปลื้มปิติ มายังเกษตรกร ทำให้มั่นใจในอาชีพการเลี้ยงโคนม ด้วยเหตุนี้เองทางกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดพัทลุงจึงขอจดทะเบียนแปรสภาพจากเดิมเป็น "สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด" โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ โดยมีหุ้นแรกเข้า ๒๗,๖๐๐ บาท |
ปี ๒๕๓๓ ปริมาณน้ำนมดิบได้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทางกรมปศุสัตว์จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณ ๓,๔๐๐,๐๐๐.๐๐ บาทและส่วนเงินทุนของสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัดสมทบอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท จัดซื้อเครื่องจักรขนาดกำลังการผลิต ๑๐ ตัน/วัน และทางฝ่ายคณะกรรมการสหกรณ์ก็มีมติให้ส่งเกษตรกรเข้าแข่งขันระดับชาติอีกครั้ง คือ นายรุกข์ ทองขุนดำ จนได้รับการตัดสินให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี ๒๕๓๓ และได้รับพระราชทานโล่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา ทางสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นทำให้มีปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานมากขึ้นและมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับที่ตั้งของโรงงานเดิมนั้นอยู่ในย่านการค้าธุรกิจคณะกรรมการดำเนินงาน จึงได้มีมติ ให้ย้ายไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่ที่เคยจัดซื้อไว้จำนวน ๔ ไร่ ๒๖ ตารางวา ด้วยเงิน ๘๔๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นผลกำไรที่เก็บออมขณะเป็นกลุ่มเลี้ยงโคนมพัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ในปัจจุบัน โดยตั้งอยู่เลขที่ ๓๕/๑ หมู่ที่ ๑ ถนนพัทลุง-ตรัง ตำบลนาท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง |
ปี ๒๕๓๖ ทางสหกรณ์โคนมพัทลุงจำกัดได้ขอกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทเพื่อดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรเครื่องใหม่ด้วยกำลังผลิต ๒๐ ตัน/วัน และสามารถดำเนินธุรกิจได้กำไรมาตลอดและในปีเดียวกันนั้นเองคณะกรรมการสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ขอสนับสนุนเงินงบประมาณพัฒนาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นของจังหวัดชื่อโครงการศูนย์รับน้ำนมดิบเป็นเงิน ๒,๙๕๐,๐๐๐ บาท หน่วยดำเนินการคือ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เก็บน้ำนมดิบที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น |
ปี ๒๕๓๗ ในสมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริโภคนมจึงได้จัดสรรงบประมาณให้เด็กก่อนวัยเรียนได้บริโภคนมอย่างทั่วถึง แต่ต้องผ่านทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ซึ่งในการจำหน่ายก็เจออุปสรรคในเรื่องของระเบียบเรื่องการเบิกจ่ายเงิน จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินขาดสภาพคล่องจนทำให้เกิดปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน คุณประเคียง เกื้อเกตุ ซึ่งเป็นกรรมการในขณะนั้น ยอมเสียสละนำที่ดินของตนเองไปเข้าจำนองธนาคาร เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สหกรณ์ฯ และในระยะต่อมารัฐบาลทราบปัญหาจึงให้สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง จึงทำให้ปัญหาการเบิกจ่ายเงินหมดไป สำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้มีโอกาสได้ดื่มนมดีมีคุณภาพ เนื่องจากสมาชิกของทางสหกรณ์ฯ ทำหน้าที่ส่งนมเองไปยังโรงเรียนทุกวัน จึงไม่มีปัญหานมบูด นมเสีย |
ปี ๒๕๓๘ คณะกรรมการของสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด มีมติให้มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบตามศูนย์รวมนมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกและเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบประกอบด้วย- ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๕๐๙,๘๒๘.๐๐ บาท- ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบป่าพะยอม ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๘๓๕,๑๓๓.๐๐ บาท- ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบลำปำ ต.ลำปำ อ.เมือง สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน ๕๙๕,๑๑๐.๐๐ บาททั้งนี้ไม่รวมค่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของกรมปศุสัตว์ และงบพัฒนาจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุน |
ปี ๒๕๔๐ คณะกรรมการสหกรณ์ มีมติให้ส่งทางกลุ่มเลี้ยงสัตว์ลำปำเข้าแข่งระดับชาติ จนได้รับการตัดสินให้เป็นกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี ๒๕๔๐ โดยนายวิโรจน์ วงศ์สุวรรณ ประธานกลุ่มเลี้ยงสัตว์ลำปำ ได้ไปรับโล่ประกาศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญคณะกรรมการสหกรณ์ มีความเห็นร่วมกันว่าการแข่งขันของตลาดนม จะเน้นหนักไปทางนมเปรี้ยวจึงได้มีมติขอกู้เงินทุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีก ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตนมเปรี้ยว มีกำลังผลิต ๔๐ ตัน/วัน และมีตลาดที่สำคัญของทางสหกรณ์ฯ คือ โครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียนและตลาดนมพาณิชย์ทั่วไป ทั้งในจังหวัดพัทลุง ภาคใต้ตอนกลางและ ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง |
ปี ๒๕๔๔ สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท และสหกรณ์โคพัทลุง จำกัด ใช้เงินทุนสมทบอีก ๑๓๕ ล้านบาท เป็นเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปนมยูเอชที |
ปี ๒๕๕๕ ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๑๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเปิดโรงงานแปรรูปนมยูเอชที ซึ่งโรงงานหลังใหม่มีกำลังการผลิตนมยูเอชทีและนมพาสเจอร์ไรส์ได้สูงสุดปริมาณ ๙๐ ตัน/วัน |
- ความคิดเห็น
- Facebook Comments